โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เกิดจากร่ายกายมีความไวต่อสิ่งผิดปกติสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายซึ่งเรียกว่า สารก่อภูมิแพ้ สารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้มีมากมานหลายชนิด เช่น เกสรดอกไม้ วัชพืช ขนของสัตว์เลี้ยง เครื่องสำอาง น้ำหอม ตัวไรฝุ่นในที่นอน เชื้อราในมี่อับชื้น เป็นต้น
โรคภูมิแพ้ซึ่งเกิดที่ตาชั้นนอก เป็นโรคตาที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่ง โดยพบได้ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ของคนปกติทั่วไป ในปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ๆ หรือเขตชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักคิดว่าโรคภูมิแพ้ที่ตาเป็นโรคที่ไม่อันตรายเพียงแค่ก่อให้เกิดความรำคาญ แต่ในรายที่เป็นเรื้อรังหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจทำให้เกิดความพิการของตาได้
ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ควบคู่ไปกับการควบคุมสิ่งแวดล้อมให้ดี รวมถึงได้รับการติดตามผลการรักษาเป็นระยะๆ แล้ว จะสามารถลดอัตราการเกิดการแพ้และการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
สาเหตุของโรคภูมิแพ้ที่ตา
1. พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ จะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ได้มากกว่าคนปกติ
2. สารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้โดยตรงได้แก่ เกสรดอกไม้ ขนของสัตว์เลี้ยง เครื่องสำอาง ตัวไรฝุ่นในที่นอน เป็นต้น
3. ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคโดยตรง แต่ปัจจัยเสริมให้อาการของโรครุนแรงขึ้นได้แก่ ควันบุหรี่ ฝุ่นละอองในอากาศที่มีมากเกินไป เป็นต้น
ประเภทของโรคภูมิแพ้ที่ตา
แบ่งตามกลุ่มอาการแพ้ที่แสดงอาการที่ตาชั้นนอก ได้แก่
1. เยื่อบุตาขาวอักเสบจากการแพ้ชนิดไม่รุนแรง ( Allergic Conjunctivitis)
เป็นโรคที่พบได้บ่อย เป็นสาเหตุอันดับแรกๆ ของอาการคันตา และตาแดง เกิดจากการแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ บางครั้งอาจพบร่วมกับโรคภูมิแพ้อื่นๆ เช่น โรคลมพิษ โรคหวัดแพ้อากาศ การแพ้อาหาร การแพ้ยา เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการตาแดง คันตา น้ำตาไหล แสบตา เคืองตา ตาบวมแดง มักเกิดกับตาสองข้างพร้อมๆกัน ในรายที่เป็นมากมีอาการตาสู้แสงไม่ได้
2. โรคภูมิแพ้ที่เกิดจากคอนแทคเลนส์ ( Giant papillary Conjunctivitis )
เป็นอาการแพ้ที่เกิดจากการใช้คอนแทคเลนส์เป็นเวลานานโดยเฉพาะผู้ที่ทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน โดยพบได้มากถึงร้อยละ 40 ของผู้ใช้คอนแทคเลนส์มานานกว่า 5 ปี ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกสบายตาเมื่อสวมใส่คอนแทคเลนส์พบตุ่มนูนแดงเป็นเม็ดเล็กๆ จำนวนมากที่เยื่อบุตาด้านบน