เลนส์แก้วตา ( Lens ) เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่หัดเหแสง ที่ผ่านกระจกตาเพื่อให้ไปโฟกัสชัดที่จอประสาทตา ( Retina ) มีลักษณะคล้ายเลนส์นูนและมีความใสมาก ตั้งแต่แรกคลอดเมื่ออายุมากขึ้นเนื้อเลนส์จะมีการสร้างใหม่ตลอดเวลา โดยจะมีการเรียงตัวของเนื้อเลนส์เป็นชั้นคล้ายกับเนื้อหัวหอม ส่วนที่เกิดขึ้นก่อนจะอยู่ชั้นในสุด ขนาดจะโตขึ้นมีความแข็งแรงมากขึ้นและสีจะเหลืองมากขึ้นเมื่ออายุมาก เพิ่มขึ้นในกรณีที่มีการขุ่น
ของเลนส์ แก้วตานี้ไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตาม เรียกว่า ต้อกระจก (Cataract)
ผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจก นอกจากจะมีการมองเห็นลดลงแล้วจะมีการมองเห็นสีที่เปลี่ยนไปแสงที่ผ่านเลนส์ที่ขุ่น จะทำให้เกิดแสงกระจาย ทำให้เห็นแสงพร่า ( Glare ) หรือเห็นเป็นสีรุ้ง บางครั้งเห็นเป็นอาทิตย์ทรงกรดในเวลากลางวันหรือกลางแจ้ง จะมีการมองเห็นที่ลดลงกว่าในที่มีแสงน้อยหรือกลางคืน เนื่องจากรูม่านตาหดมาอยู่ในช่วงต้อกระจกพอดี ผู้ป่วยบางรายจะพบว่าเปลี่ยนแว่นตาบ่อยๆ จากสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเนื่องจากดัชนีหักเหแสงผ่านเลนส์เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดสายตาสั้นเพิ่มขึ้นมากบางครั้งในรายที่ต้อกระจกสุกมากเกินไป เลนส์จะบวม ทำให้เกิดภาวะต้อหินเฉียบพลันได้
สาเหตุของต้อกระจก
1. การติดเชื้อในครรภ์ จะพบว่าในรายที่เป็นหัดเยอรมัน ( German Measles ) หรือการติดเชื้อในช่วงที่มีการตั้งครรภ์ก่อน 3 เดือน ในโรคกลุ่มนี้นอกจากต้อกระจกแล้วยังอาจพบความผิดปกติของอวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วยได้แก่ การได้ยินเสียงผิดปกติ, มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจซึ่งถ้าเป็นต้อกระจกตั้งแต่แรกเกิดจำเป็นต้องได้รับการรักษาเร็ว หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้เกิดภาวะตากระตุก ( Nystagmus ) หรือ ตาขี้เกียจ ( Amblyopia ) ได้
2. การใช้ยาเป็นเวลานานๆ ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่จำเป็นต้อง ได้รับต่อเนื่องเป็นประจำ เช่น ยารักษาผู้ป่วยโรคจิต กลุ่ม Phenothiazen จะมีการสะสมของยาในเลนส์แก้วตา ทำให้เห็นสีมีสีเหลืองมากขึ้น หรือผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่ม Corticosteroid เช่น ในผู้ป่วยที่เป็นโรค SLE หรือผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายอวัยวะ จะพบว่ามีต้อกระจก เกิดขึ้นได้บ่อยซึ่งรวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับยายอดตาที่เป็น Corticosteroid นานๆ
3. ภยันตรายหรืออุบัติเหตุต่อตา ในรายที่มีการกระแทกถูกตา ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดต้อกระจกได้
4. ภายหลังการได้รับรังสีบางชนิด เช่นในผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสง เพื่อรักษาโรคต่อสมองหรือใบหน้า ทำให้เกิดต้อกระจกหลังฉายแสงประมาณ 4 – 5 ปี
5. การอักเสบภายในลูกตา เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรครูมาตอยส์ ( Rheumatoide ) ทำให้เกิดต้อกระจก จากการอักเสบร่วมกับการใช้ยานานๆ
6. โรคประจำตัวบางชนิด เช่น เบาหวาน โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่ที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี น้ำตาลที่สูงเกินไป จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเลนส์ทำให้เกิดต้อกระจกเร็วกว่าปกติ
7. ภาวะสูงอายุ เป็นต้อกระจกที่พบมากที่สุด เกิดจากการเสื่อมของเลนส์เองตามธรรมชาติ
การวินิจฉัยโรคต้อกระจก โดยการวัดมองเห็นที่ลดลง ร่วมกับการที่มีอาการต่างๆ ของต้อกระจก อาจดูได้ง่ายๆ โดยใช้การตรวจดูเลนส์แก้วตาด้วยไฟฉายจะพบว่าบริเวณรูม่านตา จะมีการขุ่นของเลนส์ในรายที่เป็นมากอาจพบว่าต้อกระจกมีสีขาวขุ่นเห็นได้ชัดเจน
การรักษา
การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาต้อกระจกที่ได้ผลดีที่สุดการผ่าตัด เป็นการเอาเลนส์แก้วตาเดิมที่ขุ่นออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียม ( Intraocular Lens ) อันใหม่เข้าแทนที่ปกติจะทำจากวัสดุที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านของ ร่างกายโดยทำจากพลาสติกชนิด PMMA
( Polymethyl Metchacrylate ), นอกจากนี้อาจทำจากซิลิโคน ( Silicone ) หรือ อคลิริค
( Acrylic ) เลนส์แก้วตาเทียมจะทำหน้าที่โฟกัสแสงแทนที่ของเดิม โดยก่อนจะผ่าตัดเปลี่ยนจะต้องวัดเพื่อคำนวณหากำลังของเลนส์เพื่อที่จะโฟกัสแสงที่จอประสาทตาพอดีผู้ป่วยสายตาสั้นหรือยาว ที่มีต้อกระจกหลังจากผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ แล้วจะสามารถแก้ไข ความผิดปกติของสายตาในขณะเดียวกัน
วิธีผ่าตัดต้อกระจก
1. Intracapsular cataract extraction ( ICCE ) เป็นการผ่าตัดเอาตัวเลนส์แก้วตาออกทั้งหมดซึ่งทำกันในอดีต ปัจจุบันไม่นิยมทำแล้ว วิธีนี้จะไม่สามารถใส่เลนส์แก้วตาเทียม
การพิจารณาผ่าตัดแพทย์จะพิจารณาถึงชนิดของต้อกระจก โรคประจำตัวของผู้ป่วยและสภาพของดวงตา เพื่อนำมาพิจารณา ใช้วิธีใดในการผ่าตัดเพื่อให้เกิดผลดีต่อผู้ป่วยมากที่สุดโดยวิธีปกติได้ เนื่องจากไม่มีถุงเลนส์ที่จะรองรับเลนส์ หลังจากการผ่าตัดจำเป็นต้องใช้แว่นตาหรือเลนส์สัมผัสเพื่อช่วยในการมอง เห็น
2. Extracapsular cataract extraction ( ECCE ) เป็นการผ่าตัดที่เอาเนื้อเลนส์แก้วตาออก เหลือไว้เฉพาะถุงเลนส์ ( Lens capsule ) วิธีนี้จะสามารถใส่เลนส์แก้วตาเทียม ผู้ป่วยสามารถเห็นได้เลยหลังผ่าตัด ข้อเสียคือแผลผ่าตัดจะมีขนาดใหญ่และอาจมีภาวะสายตาเอียงได้ เนื่องจากแผลใหญ่
3. Phacoemulsification เป็นการผ่าตัดโดยการใช่คลื่นเสียงความถี่สูง ( Ultrasound ) สลายเนื้อเลนส์ให้แตกเป็นอณูและดูดออก แผลจะมีขนาดเล็กมาก ดังนั้นภาวะสายตาเอียงจะเกิดขึ้นได้น้อยกว่าและแผลหายเร็วกว่าวิธีอื่น ข้อเสียคือต้องอาศัยเครื่องมือที่มีราคาแพงมาก
การพิจารณาผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาชนิดของต้อกระจก โรคประจำตัวของผู้ป่วย และสภาพของดวงตาเพื่อนำมาพิจารณาใช้วิธีใดในการผ่าตัด เพื่อให้เกิดผลดีต่อผู้ป่วยมากที่สุด
เรียบเรียงโดย นายแพทย์วิชัย ประสาทฤทธา
สมาคมส่งเสริมวิชาการแว่นตาแห่งประเทศไทย
วันชาวแว่นตาครั้งที่ 14