ReadyPlanet.com


ตำนานเลนส์พลาสติก CR – 39 ของประเทศไทย


                         

                หลังสงครามโลกครั้งที่สอง   เป็นยุคของการเริ่มต้นของยุคพลาสติกเลนส์ว่าตาก็ได้มี วิวัฒนาการโดยบริษัทหนึ่งในสหรัฐอเมริกา  ชื่อ   PITTSBURG   PLATE  GLASS  CO . ( PPG )

ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท  Columbian   Southern  Company   ได้พบโมโนเมอร์ซึ่งเป็นส่วนผสมของสารอัลลิลได  ไกลคอลคาร์บอนเนต  ( ADC )  จากการทดครั้งที่  39  ต่อมาเรียกสารชนิดนี้ว่า    CR – 39   สารนี้มีคุณสมบัติที่สามารถนำมาหล่อตามแบบได้  โดยไม่ต้องใช้แรงอัดและได้หล่อถังน้ำมัน  ของเครื่องบินทิ้งระเบิด   B – 17   โดยหล่อเป็นชั้นๆ หุ้มแผ่นยางซึ่ง  สามารถอุดรูรั่วด้วยตัวเองเมื่อถังน้ำมันเครื่องบินถูกยิงด้วยกระสุนปืนอีกทั่งมี   น้ำหนักเบาเพิ่มสมรรถนะของการทำการของเครื่องบินพิสัยไกลขึ้น   นับว่า  CR – 39    มีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้พันธมิตรชนะสงครามโลกครั้งที่สองเป็นอย่างมาก   และด้วยคุณสมบัติที่โปร่งใสจึงถูกนำมาใช้ทำชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ ของเครื่องบิน  โดยเฉพาะนำมาทำเป็นท่อน้ำมันแทนที่ทำจากแก้ว

                ภายหลังสงครามด้วยความที่    CR – 39    มีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโปร่งใสจึงถูกนำมา   ใช้ประโยชน์ทางสายตาโดยเป็นวัสดุที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่นำมาใช้ทำเลนส์แว่นตาที่เราใช้กันทุกวันนี้   แม้ว่าปัจจุบันนี้จะมีการพัฒนาและค้นคว้าวัสดุพลาสติกวิศวกรรมอื่นๆ  ที่มี   Reflection  Index  สูงมากๆ    ทำให้เรามีเลนส์ไฮอินเดกซ์ต่างๆ  ที่บางกว่าเลนส์เดิม   อาทิเช่น   เลนส์อินเดกซ์  1.56,  เลนส์อินเดกซ์    1.60, เลนส์อินเดกซ์   1.67   จนถึงเลนส์อินเดกซ์   1.74   ในปัจจุบันแต่เลนส์   CR – 39    ซึ่งมีอินเดกซ์   1.499   หรือเรียกกันว่าเลนส์อินเดกซ์   ธรรมดาก็ไม่คลายความสำคัญในบทบาทของเลนส์แว่นตาลงแต่อย่างไร

                ที่กล่าวกันว่าเลนส์   CR – 39   มีความสำคัญในการนำใช้เป็นเลนส์แว่นตานั้น   มีความจริงเป็นอย่างไร  ลองมาดูสถิติของปี   ค.ศ. 2000   กันหน่อยจะเห็นสัดส่วนการใช้เลนส์ของตลาดแว่นตาทั่วโลกได้มีการใช้เลนส์ที่ทำจากวัสดุ  CR – 39    เป็นสัดส่วนสูงที่สองรองจากเลนส์กระจก   ดังรายละเอียดที่อสดงในตารางข้างล่างนี้

                เลนส์ที่ทำมากจากกระจกธรรมดา ( Mineral  Glass )               39% 

                เลนส์ที่ทำมาจากกระจกเปลี่ยนสี ( Photocromic  Glass )        6%

                เลนส์ที่ทำจากเลนส์พลาสติกธรรมดา (CR – 39 )     38%

                เลนส์ที่ทำจากพลาสติกอินเดกซ์                                8%

                เลนส์ที่ทำจากพลาสติกเปลี่ยนสี                                3%

                เลนส์ที่ทำจากโพลีคาร์บอนเนต                                 6%

 

                โดยที่มีสิ่งหนึ่งที่จะละเว้นไม่กล่าวถึงอย่างน่าภาคภูมิใจสำหรับประเทศไทยไม่ได้ว่า   ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตเลนส์พลาสติกอินเดกซ์ธรรมดา   ที่เรียกว่า  CR – 39    มากที่สุดในโลก  โดยดูได้จากสถิติเมื่อปี  ค.ศ. 2000  ดังนี้

                ประเทศผู้ผลิตเลนส์   CR – 39                                                    จำนวน  ล้านคู่

                ประเทศไทย                                                                                         145

                ประเทศแม็กซิโก                                                                                  62

                ประเทศจีน                                                                                             53

                ประเทศอินเดีย                                                                                      7

                ประเทศอินโดนีเซีย                                                                              45

                ประเทศฟิลิปินส์และออสเตรเลีย                                                       54

                ประเทศมาเลเซีย  สิงคโปร์ และ ไต้หวัน                                          34

                ประเทศอเมริกา และแคนาดา                                                          51

                ประเทศยุโรปรวมทั้งหมด                                                                 120

                ประเทศอเมริกาใต้                                                                           48

                ประเทศญี่ปุ่น  และเกาหลี                                                               39

                จะเป็นได้ว่าเลนส์พลาสติก   CR – 39    ที่ผลิตจากประเทศไทย  มี  เท่ากับ  22 %   ของเลนส์   ที่ผลิตได้ในโลก  โดยมีโรงงานที่ผลิตที่อยู่ในประเทศไทย  ดังนี้

1.  บริษัท  โฮยาเลนส์ ( ประเทศไทย )  จำกัด  จากประเทศญี่ปุ่น

2.  บริษัท  เอสซิเลนส์ ( ประเทศไทย )  จำกัด  จากประเทศฝรั่งเศส

3.  บริษัท  โรเดนสต๊อก  ( ประเทศไทย )  จำกัด  จากประเทศเยอรมัน

4.  บริษัท  โซลาร์  เลนส์  ( ประเทศไทย )  จำกัด  ผู้ผลิตเลนส์กันแดด  จากประเทศอิตาลี

5.  บริษัท  ไทย  โปลีเมอร์  จำกัด  บริษัท  ในกลุ่มอุตสาหกรรมแว่นตาไทย  จำกัด

6.  บริษัท  โพลีซัน  จำกัด  ผู้ผลิตเลนส์กันแดด  บริษัท  ในกลุ่มอุตสาหกรรมแว่นตาไทย  จำกัด

7.  บริษัท  สยามเลนส์  จำกัด  บริษัทในเครือของห้างแว่นตา  อายแล็ป

8.  บริษัท  คริสตอลเลนส์  จำกัด

                บริษัทที่หนึ่งถึงที่สี่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการเลนส์แว่นตาในโลก  นับว่ากรุงเทพมหานครของเราเป็นแหล่ง  ผลิตเลนส์พลาสติก    CR – 39   ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกทีเดียว

                ด้วยความที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตเลนส์พลาสติกในประเทศไทยเกิดขึ้นมาไม่เกิน   20  ปีที่ผ่านมานี้เอง    โดยเริ่มจากบริษัทอุตสาหกรรมแว่นตาไทยซึ่งตอนนั้นเป็นผู้ผลิตเลนส์กระจกจากการเจียรนัย  ได้จัดตั้งโรงงาน  ผลิตเลนส์พลาสติก   CR – 39   เป็นครั้งแรกที่โรงงานแคราย   จังหวัดนนทบุรี   ไล่เลี่ยกับ   บริษัท   โฮยา   เลนส์           ซึ่งในขณะนั้นก็ผลิตเลนส์กระจกจากการเจียรนัยเช่นกัน  ได้ขยายไลน์การผลิตขึ้นที่โรงงานรังสิต  สามปีต่อมา  บริษัท  โซลาร์  เลนส์  จากประเทศอิตาลี  ก็มาสร้างโรงงานผลิตเลนส์พลาสติกย้อมสีสำหรับกันแดดที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง   โดยตั้งอยู่ในเขตส่งออกถัดมาอีกไม่นานบริษัท   เอสซีเลอร์   ซึ่งมีโรงงานผลิตเลนส์   อยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์   ก็มาสร้างโรงงานในเขตอุตสาหกรรมส่งออกลาดกระบังเช่นกัน   ติดตามมาด้วย   โรงงานผลิตเลนส์ทั้งกระจกและพลาสติกของ  บริษัท  โรเดนสต๊อก  จากเยอรมัน  ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขตส่งออกของนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังอีกเช่นกัน

                ในส่วนที่เป็นโรงงานของคนไทย  บริษัท  อุตสาหกรรมแว่นตาไทย  ซึ่งได้สะสมโนฮาวและประสบการณ์  จากการผลิตทั้งเลนส์กระจก  และเลนส์พลาสติกได้พอสมควรได้ลงทุนสร้างโรงงานผลิตเลนส์พลาสติกมาตรฐาน   ที่บางบัวทอง  เมื่อปี   ค.ศ. 1990   โดยแบ่งเป็น  3  เฟส   มีกำลังการผลิตที่ขยายจนเต็มในปัจจุบัน   เท่ากับ   30   ล้านชิ้นต่อไป  ตามมาด้วยบริษัท  คริสตอลเลนส์   ไทรน้อยมีกำลังการผลิต  ประมาณ   6  ล้านชิ้น  และโรงงานหลังสุดตั้งแต่ขึ้นเมื่อ   3  ปีที่แล้วเป็นการลงทุนร่วมของผู้เชี่ยวชาญเลนส์ย้อมสี   จากประเทศอิตาลี  กับ  บริษัท  อุตสาหกรรมแว่นตาไทย  ทำการผลิตภัณฑ์กันแดดซึ่งมีสีให้เลือกมากกว่า   200  สีและมีกำลังการผลิตกว่า   10   ล้านชิ้นต่อปีตั้งอยู่ที่อำเภอบางบัวทองเช่นกัน

                สำหรับการตลาดซึ่งมีความสำคัญเท่ากับการผลิต    โรงงานจะดำเนินการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้แน่ถ้าไม่สามารถขายได้  เรามาพิจารณาดูสัดส่วนของการใช้เลนส์  CR – 39  ของตลาดต่างๆจะเห็นได้ดังนี้

                                                % ของการใช้เลนส์    CR – 39 

1.  ประเทศในเอเชีย / แปซิฟิค                                        29.1

2.  ประเทศยุโรปตะวันตก                                                19.9

3.  ประเทศยุโรปตะวันออก                                              6.4

4.  ประเทศในอเมริกาเหนือ                                             29.0

5.  ประเทศในอเมริกาใต้                                                   3.4

6.  ประเทศตะวันออกกลาง                                              1.5

7.  ประเทศในทวีปอาฟริกา                                              0.7

                การผลิต เลนส์พลาสติก   CR – 39  รวมไปถึงการตรวจสอบคุณภาพ  เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงาน  ค่อนข้างสูงและโดยที่มีการเพิ่มปริมาณการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ  ทำให้ไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทาน   เป็นเหตุให้ราคาเลนส์มีแนวโน้มที่จะต้องลดลงในตลาดนานาชาติ  โรงงานซึ่งตั้งอยู่ในประเทศที่เจริญแล้วมีค่าแรงงานสูงอย่างประเทศในยุโรป, อเมริกา, ญี่ปุ่น  และเกาหลี   ต้องทยอยปิดตัวลงและย้ายฐาน   การผลิตมาทางประเทศในเอเชีย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีแรงงานมากมายและราคาถูกอย่างประเทศจีน  แต่ลำพังการผลิตโดยที่มีต้นทุนที่ถูกใช่ว่าจะทำให้ขายได้และมีกำไรมาก  ซึ่งไม่เป็นความจริงเสมอไปยกตัวอย่างเช่น   ที่เห็นได้ชัดคือเลนส์ที่ผลิตจากโรงงานของประเทศเกาหลีต้องขายในราคาถูกแข่งกับเลนส์ที่ผลิตจากโรงงานในประเทศจีน  เพราะผู้ผลิตไม่คำนึงถึงการรักษาคุณภาพตามมาตรฐานสากล  ไม่ได้รับเครดิต  จากประเทศต่างๆ ที่เป็นผู้ซื้อแม้จะมีโรงงานบางแห่งในประเทศเกาหลีพยายามจะควบคุมคุณภาพ   ของสินค้าให้มีมาตรฐานตามสากลก็มิอาจจะทานผู้ประกอบส่วนใหญ่ได้   เหมือนมีปลาเน่าอยู่ในข้องเดียวกัน  ไม่ว่าจะทำดีอย่างไรก็เหมือนกันไปหมด

                ที่นี้ลองมาพิจารณาถึงสถิติที่จัดทำโดยผู้ผลิตวัตถุดิบ  สำหรับปี   ค.ศ. 2000  มี  จำนวนเลนส์ที่ผลิได้จากประเทศไทยโดยโรงงาน   8   แห่งรวมกันประมาณมากกว่า    3    เท่าตัวของจำนวนเลนส์ที่ผลิตโดยโรงงานไม่น้อยกว่า   29   แห่งในประเทศจีนร่วมกัน  ซึ่งในจำนวนโรงงานทั้ง   29  แห่งนี้มีโรงงานขนาดใหญ่  ซึ่งเป็นของบริษัทต่างประเทศเพียง   3   แห่งคือ   โรงงานของ   โฮยา   ที่เมืองกวางเจา, โรงงานของบริษัท  เอสซิลอร์  ที่ใกล้เมืองเซี่ยงไฮ้, และโรงงานของบริษัท  โซลาเลนส์  ที่เมืองซีอานแล้วนอกนั้น เป็นของคนจีนเอง   หรือเป็นการร่วมทุนของเอกชนคนจีนกับชาวต่างประเทศ   ทั้งนี้โรงงานเหล่านี้มีขนาดกลางและขนาดเล็กทั้งสิ้น  สาเหตุที่เป็นเช่นนี้   ก็คือโรงงานผลิตเลนส์พลาสติกที่มีมาตรฐานสากลต้องใช้ทุนทรัพย์สูง  และอีกทั้งต้องมีโนฮาว   รวมถึงประสบการณ์ในการผลิตเลนส์  ซึ่งเป็นของที่ไม่อาจจะหาซื้อได้ง่ายๆและที่สำคัญสำหรับ  ผลิตภัณฑ์จากโรงงานอิสระซึ่งไม่มียี่ห้อและชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก   ถ้าไม่มีเครดิตของคุณภาพมาตรฐานของสินค้า  มีแต่ราคาที่ถูกแล้วจะขายได้ยากทำให้การขยายตัวของกำลังการผลิตเป็นไปได้ช้า

                ถ้าดูการขยายตัวของโรงงานการผลิตเลนส์พลาสติกในประเทศจีนอย่างรวดเร็วเช่นนี้   คาดเดาได้เลยว่าสักวันหนึ่งประเทศไทยคงจะต้องเสียแชมป์ในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกไป   แต่คงไม่เสียความสำคัญในฐานะผู้ผลิตเลนส์มีคุณภาพมาตรฐานสากล   ไม่ต้องกล่าวถึงโรงงานที่เป็นของบริษัทใหญ่จากต่างประเทศซึ่งมีชื่อเสียงอยู่แล้ว   ได้มีการปรับเปลี่ยนไปผลิตเลนส์ชนิดที่มีค่าสูงขึ้น   เช่น เลนส์ไฮดินเดกซ์  หรือ   ไม่ก็เลนส์พลาสติกชนิดเคลือบแข็งกันแสงสะท้อน  ( Hard  Multicoated )  หรือ  เลนส์โปรเกสซีฟ   เป็นต้น  โรงงานของคนไทย  เช่น  โรงงานของ  บริษัท  ไทยโปลีเมอร์เลนส์ปรับเปลี่ยนมาผลิตเลนส์โปรเกสซีฟ   2   แบบ   ทั้งแบบ  “ซุปปราโปร”  ที่มีความยาวของ  คอร์ริดอร์   17   ม.ม.  และแบบ  “ดิสคอฟเวอรี่”   ที่มีความยาวของคอร์ริดอร์    15    ม.ม.   นอกจากนี้ยังได้เพิ่มไลน์ของผลิตภัณฑ์  โดยผลิตเลนส์พลาสติกเปลี่ยนสี   SUN  SENSORS   ซึ่งมีอินเดกซ์    1.56  และเลนส์ไฮอินเดกซ์   1.60   รวมทั้งได้ติดตั้งเครื่องเคลือบ  ผิวแข็งกันแสงสะท้อนคุณภาพสูง  Shincron   จากประเทศญี่ปุ่นเทียบเท่าโรงงานจากประเทศญี่ปุ่น  อื่นๆ

                ส่วนบริษัทสยามเลนส์  ก็ได้เพิ่มผลิตภัณฑ์เลนส์โปรเกสซีฟ  มัลติลักซ์  ซึ่งเป็นเลนส์คอร์ริเดอร์   ชนิดสั้นมีความยาวของ  คอร์ริดอร์    13   ม.ม.   และติดตั้งเครื่องเคลือบผิวแข็งกันแสงสะท้อนคุณภาพสูงจาก  Satis   ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์

                ในส่วนของการตลาดนั้น  บริษัท  ไทยโปลีเมอร์เลนส์   ได้ออกแสดงสินค้าในการแสดงสินค้าแว่นตาของสากลที่สำคัญทุกปี  เช่น  ที่งานแสดงสินค้า   MIDO  ที่เมืองมิลาน  ประเทศอิตาลี, งานแสดงสินค้า  Hongkong  Optical   Exhibition  ที่ฮ่องกง  และ***นี้จะเพิ่มงานแสดงสินค้าที่  SILMO  ที่เมืองปารีส  ประเทศฝรั่งเศส  และงาน  DIOPT  ที่เมืองเตกู   ประเทศเกาหลี  ด้วยส่วนบริษัท  สยามเลนส์ ก็ร่วมงานแสดงสินค้า  Vision   Expo   ที่เมืองนิวยอร์ค  สหรัฐอเมริกา  และงาน  SILMO   ที่เมืองปารีส  ประเทศฝรั่งเศส

                เลนส์พลาสติก  CR – 39  จากประเทศไทยซึ่งผลิตโรงงานของคนไทย  ได้รับการรับการยอมรับจากประเทศต่างๆทั่วโลกว่าเป็นเลนส์ที่มีคุณภาพมาตรฐานจากการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวดตามารตรฐานสากล   ISO  ซึ่งมีบริษัทไทยโปลีเมอร์เลนส์  นำร่องด้วยการได้รับใบรับรองมาตรฐานสินค้า   ISO  9002   จาก  RWTUV    ประเทศเยอรมัน มาตั้งแต่ปี  1998  และด้วยการรักษาคุณภาพเข้มงวดนี้   ทำให้เลนส์อย่างจากประเทศไทยได้รับการยอมรับ   และสามารถขายได้ในราคาสูงกว่าเลนส์ที่ผลิตโดยโรงงานอิสระ  ของประเทศอื่นในเอเชีย  ซึ่งนับเป็นเครดิตที่น่าภูมิใจของประเทศไทย  ในส่วนของตลาดในประเทศไทยด้วย  การตรวยวัดสายตา  และการประกอบแว่นอย่างประณีตของร้านแว่นตาต่างๆของเรา  ทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาเที่ยวประเทศไทยมักจะหาซื้อแว่นสายตาคุณภาพดีราคาถูก  เมื่อเปรียบเทียบกับราคาในประเทศของเขา

                ที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องของเลนส์  CR – 39   ส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย  ก็เพื่อให้พวกเราผู้ประกอบการแว่นตาทุกท่านได้ภาคภูมิใจกับเครดิตที่ได้รับจากนานาชาติ   จะได้ช่วยกันระมัดระวังในการประกอบกิจการ  อย่างมืออาชีพและช่วยกันรักษาชื่อเสียงที่ดีคู่กับวงการแว่นตาของเราตลอกไป

                                                   เรียบเรียงโดย     ดร.  สว่าง   ประจักษ์ธรรม

                                                   สมาคมส่งเสริมวิชาการแว่นตาแห่งประเทศไทย

                                                   วันชาวแว่นตา  ครั้งที่      14  



 

ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 24-04-2008 20:31:57 IP : 58.9.86.202


ผู้ตั้งกระทู้ Admin กระทู้ตั้งโดยเว็บมาสเตอร์ :: วันที่ลงประกาศ 2008-04-24 20:37:08 IP : 58.9.86.202


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1381525)

อยากทราบว่าสารที่ใช้ทำเลนส์นั้นเป็นอันตรายต่อฝ่ายผลิตหรือไม่ค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น google วันที่ตอบ 2010-06-30 07:14:41 IP : 116.58.231.242


ความคิดเห็นที่ 2 (3016092)

ผลิตเลนซ์กล้องได้หรือไม่

ผู้แสดงความคิดเห็น อำพล วันที่ตอบ 2015-02-24 10:21:10 IP : 49.228.224.121



[1]



กระทู้นี้ไม่เปิดให้แสดงความคิดเห็น

Copyright © 2010 All Rights Reserved.