ReadyPlanet.com


การวัดสายตาที่ดี มีกี่ขั้นตอนกันแน่ ถึงจะดีจริง!


การตรวจสายตานั้นก็เหมือนกับการตรวจทางวิทยาศาสตร์การแพทย์สาขาอื่นๆ ที่จะทำก็ต่อเมื่อผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลทางด้านสายตาต้องการทราบข้อมูลในเชิงลึกของสมมุติฐานที่ได้ตั้งไว้ในการดูแลปัญหาทางสายตาของผู้ใช้บริการ ดังนั้นการตรวจสายตาที่ดีจึงจำเป็นต้องเริ่มจาก

1. การซักประวัติและปัญหาของผู้ป่วยที่มาใช้บริการ ด้วยคำถามหลากหลายประการ เช่น ปัญหาใดที่ผู้ป่วยมีอยู่ ปัญหานั้นๆ เป็นอย่างไร มีผลอย่างไรต่อผู้ป่วย (หากผู้ป่วยมีการใช้คอนแทคเลนส์หรือแว่นตาควรจะนำมาด้วย)
การซักปัญหานี้อาจถือได้ว่าเป็นขั้นแรก และมีความสำคัญต่อการตรวจที่จะตามมาภายหลัง ผู้ที่ตรวจสายตาหากมีความเชี่ยวชาญพอ จะสามารถกำหนดได้พอสมควรแล้วว่าต้องปฏิบัติอย่างไรกับผู้ป่วยต่อไป
ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถให้ข้อมูลได้ดี การมีญาติสนิทหรือผู้ดูแลไปกับผู้ป่วยด้วยก็จะได้ประโยชน์เพียงพอสำหรับการตรวจสายตาต่อไป
ผู้ป่วยสามารถปฏิเสธการตอบคำถามใดๆ ที่เห็นว่าไม่ควรต้องตอบก็ได้ แต่ในหลายกรณีนั้นคำถามที่ผู้ตรวจสายตาต้องการทราบจะมีผลต่อการวางรูปแบบการตรวจภายหลังอย่างมาก ดังนั้นในกรณีที่เป็นไปได้ ควรตอบคำถามให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

2. การตรวจขั้นต้น โดยมากแล้วก็จะเป็น การตรวจความชัดเจนในการมองเห็นและการตรวจสุขภาพสายตาทั่วไป ในบางกรณีจะเป็นการวัดสายตาโดยเครื่องวัดสายตาอัตโนมัติ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนการทดสอบอื่นๆ ที่ตามมานั้นจะมีขั้นตอนหลักแตกต่างกันไป ซึ่งอาจเรียงตามลำดับเป็นกลุ่มได้ดังนี้
- การตรวจวัดความชัดเจนพื้นฐาน
- การตรวจเบื้องต้นการเคลื่อนไหวของลูกตา
- การตรวจเบื้องต้นระบบการวางตำแหน่งสายตา
- การตรวจเบื้องต้นระบบการประสานระหว่างตา
- การทดสอบการมองเห็นสีและการเห็นความลึก
- การตรวจลักษณะพื้นฐานภายนอกของตาและใบหน้า
- การตรวจอื่นๆ
การตรวจเหล่านี้ก็จะเป็นเครื่องมือที่ผู้ให้การตรวจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละส่วน เพื่อให้สามารถเฉพาะเจาะจงลงไปได้ว่า ส่วนใดในการตรวจต่อไปต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ หรือเรื่องที่คนไข้มีปัญหานั้น เกิดจากอะไรเป็นพื้นฐาน ซึ่งหลายๆ ครั้งปัญหาที่รู้สึกว่าจะเกี่ยวกับสายตานั้นกลับกลายเป็นปัญหาที่เกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้ ทั้งนี้เพราะระบบการมองเห็นเป็นระบบที่มีความละเอียดอ่อน ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่อาจเกิดกับระบบอื่นของร่างกายก็มักแสดงผลออกมาในรูปของความผิดปกติในระบบการมองเห็นได้ง่าย
หลังจากเสร็จสิ้นการตรวจเบื้องต้นแล้ว ค่าที่ได้จากการตรวจก็จะนำมาพิจารณาเทียบเคียงกับค่าสายตาที่มีอยู่บนแว่นสายตาเดิมหรือค่าปกติของสายตาตามการพัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งจะนำไปสู่การตรวจขั้นตอนต่อไป

3. การตรวจสายตาและสุขภาพสายตาอย่างละเอียด ซึ่งมักตรวจร่วมกับการใช้เครื่องมือ เช่น เครื่องวัดกำลังสายตา (Phoropter) อุปกรณ์สะท้อนกำลังสายตา (Retinoscope) กล้องส่องสภาพจอประสาทตา (Ophthalmoscope) และกล้องจุลทัศน์สำหรับตา (Biomicroscope) โดยเครื่องมือเหล่านี้จะใช้ในการตรวจหลายขั้นตอน แยกเป็นกลุ่มหลักๆ ได้แก่
- การตรวจวัดสายตาสั้น-ยาว-เอียงในระยะไกล
- การตรวจวัดสายตาสั้น-ยาว-เอียงในระยะใกล้
- การตรวจความประสานงานของระบบสองตาอย่างละเอียด
- การตรวจสายตาพิเศษอื่นๆ
- การตรวจความสมบรูณ์ภายนอกของตา
- การตรวจความสมบรูณ์ด้านหน้าของลูกตา
- การตรวจสุขภาพสายตาทั่วไปของประสาทตา
การตรวจในขั้นตอนนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลในเชิงลึกของคนไข้แต่ละคน ในการตรวจจริงนั้นคนไข้แต่ละคนอาจไม่จำเป็นต้องใช้ขั้นตอนทั้งหมดนี้ หากแต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ตรวจว่ามีความจำเป็นมากน้อยเท่าใดในการตรวจแต่ละอย่าง เนื่องจากการตรวจเหล่านี้ต้องใช้เวลา หากต้องตรวจทั้งหมดก็อาจใช้เวลาค่อนข้างมาก ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ดีก็จะทำให้ไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร การตรวจสายตาในระดับนี้เป็นการตรวจสุขภาพในเชิงรุกซึ่งหลายๆ ครั้งจะสามารถพบปัญหาของโรคตาและระบบอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อระบบการมองเห็นได้เร็วกว่าที่จะรอให้มีอาการมากๆ เป็นผลให้การรักษาต่อจากนี้โดยแพทย์อื่นๆ ได้ผลดีมากยิ่งขึ้น
การตรวจสายตาที่ดี ในท้ายที่สุดต้องสามารถแก้ไขปัญหาของคนไข้ได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้บุคลากรที่เป็นผู้ตรวจสายตาก็ต้องมีความพร้อมทางด้านความแม่นยำในวิธีการ และการประมวลผลการตรวจ จึงจะสามารถอำนวยประโยชน์อย่างแท้จริงต่อคนไข้

4. การประมวลผลและการแก้ปัญหาที่ตรวจพบจากผู้ป่วย การตรวจสายตาที่ดีหลังจากการตรวจเสร็จสิ้นแล้ว ต้องมี การประมวลผลและการแก้ปัญหาที่ตรวจพบจากผู้ป่วย เพื่อเป็นการเตรียมกำหนดการในการมาตรวจติดตามผลครั้งต่อไป เพื่อให้การตรวจวัดผลการแก้ไขปัญหาของคนไข้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และคาดคะเนผลกระทบต่อสุขภาพในอนาคตของคนไข้จากผลการตรวจ
การตรวจสายตาที่ดียังต้องดูองค์ประกอบของสุขภาพในระบบอื่นๆ ทั่วๆ ไปอีกด้วย ทั้งนี้อาจต้องมีการส่งคนไข้ให้กับแพทย์สาขาอื่นๆ ต่อไป เพื่อให้สามารถดูแลได้ครบทุกองค์ประกอบของคนไข้ในท้ายที่สุด
โดยทั้งหมดในส่วนนี้เป็นขั้นตอนของ Assessment และ Planning เฉพาะสำหรับคนไข้แต่ละคนในปัญหาแต่ละอย่างด้วย ทำให้เกิดความแตกต่างในคนไข้แต่ละราย ถึงแม้ว่าจะมีลักษณะอาการหรือปัญหาที่คล้ายคลึงกันก็ตาม

การวัดสายตาที่ถูกต้อง สามารถช่วยแก้ปัญหาในหลายๆ ด้านที่เกี่ยวกับระบบการมองเห็น หากแต่การวัดสายตาที่ผิดระบบมักทำให้ได้ข้อสรุปที่ผิดพลาดได้ง่าย ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์ต่อคนไข้แล้วก็ยังสามารถสร้างปัญหาได้อีกด้วย
ในกรณีที่มีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับข้อกำหนดในการแก้ไขปัญหาของคนไข้ ก็ควรถามให้ถี่ถ้วน เพื่อให้การแก้ปัญหาใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวเนื่องกับระบบสายตาได้ผลดีที่สุด และช่วยให้ผู้มาใช้บริการตรวจวัดสายตามีสุขภาพสายตาที่ดีไปอีกนาน

สมาคมส่งเสริมวิชาการแว่นตาแห่งประเทศไทย



ผู้ตั้งกระทู้ Admin กระทู้ตั้งโดยเว็บมาสเตอร์ :: วันที่ลงประกาศ 2008-03-15 12:45:39 IP : 58.9.76.120


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1465143)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น superoptician วันที่ตอบ 2012-01-15 15:16:21 IP : 192.168.185.182



[1]



กระทู้นี้ไม่เปิดให้แสดงความคิดเห็น

Copyright © 2010 All Rights Reserved.