สายตาขี้เกียจ มาจากภาษาอังกฤษ หรือภาษาทางศัพท์แพทย์คือ เลซีอาย ( Lazy Eye) หรือมีอีกคำที่ใช้กันคือ Amblyopia หมายถึงภาวะที่ความคมชัดของสายตา ( Visual Acuity ) ของตาข้างใดข้างหนึ่งลดน้อยลงไป หรือมีภาวะมัวลงทำให้มองเห็นภาพวัตถุใดๆไม่เท่ากับตาอีกข้างเป็นเพราะสาเหตุที่ตาข้างนั้นๆ ไม่ถูกใช้งานด้วยการมองภาพ หรือถูกปิดบังมิให้แสงจากภาพเข้าสู่ศูนย์กลางความคมชัดได้ตรงเป้า ( Fovea Centralis ) ภาวะเช่นนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะเด็กแรกเกิด จนกระทั่งถึงอายุ 6 ถึง 7 ขวบ ซึ่งเป็นระยะที่ความคมชัดของสายตาเด็กกำลังเจริญเติบโตและพัฒนาไปเรื่อยๆถ้าไม่ถูกใช้งานจะทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจ เพิ่มปริมาณขึ้นตามอายุจนกระทั่ง 6 ถึง 7 ขวบ ดังกล่าวทั้งนี้และทั้งนั้นความคมชัดของสายตาที่ด้อยลงไปนี้ไม่สามารถตรวจพบสิ่งผิดปกติที่จอประสาทตาได้เชื่อว่าชาวอเมริกันมีภาวะตาขี้เกียจเฉลี่ยร้อยละ 2 ถึงของคนไทยยังไม่ได้สำรวจ
สาเหตุมีดังนี้
- ตาเขตั้งแต่แรกเกิดโดยเฉพาะตาเขเข้าด้านในคือตาดำเข้ามาชิดกันมากทำให้ตาข้างที่เขเข้าไม่ถูกใช้งาน หรือมองภาพด้วยศูนย์กลางการมองภาพชัด ทำให้ประสิทธิภาพค่อยๆ ลดลงจนกระทั่งถึงอายุ 6 ถึง 7 ขวบเลยจากอายุนี้ไปภาวะจะไม่เกิด
การแก้ไขลักษณะนี้จักษุแพทย์หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้จึงต้องพยายามปิดตาเด็กทีละข้างสลับกันเพื่อให้ตาข้างที่เขใช้มองอะไรต่อมิอะไรเสียบ้าง เพราะลูกตาคนเรายิ่งใช้มองอะไรมากเท่าไรประสาทการรับภาพจะทำงานดีเป็นปกติ หรือ ถ้าตรวจพบว่าตาข้างใดข้างหนึ่งเขตั้งแต่อายุ 1 ถึง 2 ขวบ ต้องพยายามช่วยเหลือเบื้องต้นด้วยการปิดตาข้างที่ไม่เขเพื่อบังคับข้างที่เขให้มองเป็นระยะๆ
- เด็กที่มีสายตาผิดปกติต่างกันมากๆ สายตาสั้นมีขนาดไม่เท่ากันหรือยาวไม่เท่ากัน
( Anisometropia ) ยกตัวอย่างเช่น สายตาขวาสั้น 100 ข้างซ้ายสั้น 800 จะพบว่าข้างซ้ายมีภาวการณ์มองเห็นไม่ชัดเจนเท่าข้างขวาตาซ้ายจะเกิดตาขี้เกียจภายหลังจวบจนกระทั่ง เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ถ้าตรวจสายตาด้วยแผ่นตัวอักษรหรือตัวเลข ( Snellen Chart ) ตาขวาจะได้ 6/6 ส่วนตาซ้ายแม้จะใช้แว่น 800 จะได้เพียง 6/12 หรืออย่างดี 6/9 เท่านั้น
- เด็กหรือคนไข้ที่มีสายตาผิดปกติมากๆ และพอๆกันคือสั้นมากๆ หรือยาวมากๆ หรือ เอียงมากๆ ทั้ง 2 ข้างเมื่อเติบโตขึ้นจนกระทั่งเข้าโรงเรียน ได้จึงมาตรวจวัดสายตาพบว่าเมื่อใช้แว่นแล้ว จะมีอยู่หนึ่งข้าง หรือ บางคนทั้ง 2 ข้างเลย ที่ไม่สามารถจะปรับสายตาให้ขึ้นมาระดับคนปกติได้ เนื่องจากตาของคนไข้เกิดภาวะตาขี้เกียจก่อนหน้านี้แล้วยกตัวอย่างเช่น คนที่มีสายตาสั้น 900 หรือ 1200 พวกนี้วัดสายตาประกอบแว่นแล้วอาจไม่เห็นภาพคมชัดเช่น คนปกติ
- ภาวะที่ตาข้างใดข้างหนึ่งมีความผิดปกติ มาแต่กำเนิดเป็นต้นว่าเปลือกตาตี่ลงมาปิดตาดำครึ่งหรือค่อนข้างใดข้างหนึ่งตลอดเวลาทำให้ตาข้างนั้นถูกปิดบังการมองเห็นหรือกระจกตาดำเป็นฝ้าขาว กระจกตาดำโค้งผิดรูปร่างและที่สำคัญคือเป็นต้อกระจกตั้งแต่เกิด เด็กพวกนี้จึงต้องรีบแก้ไขให้ตาข้างนั้นใช้งาน ได้ด้วย การให้แสงผ่านเลนส์ศูนย์กลางการมองภาพชัดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
อาการ
ภาพไม่คมชัดในตาแต่ละข้างที่สามารถตรวจ วัดได้แผ่นตัวอักษรหรือตัวเลข ( Snellen Chart ) พบว่าทั้ง 2 ข้างจะไม่เท่ากันแม้จะแก้ไข ด้วยแว่นสายตาแล้วก็ตามคนไข้จะปรับตัวเองด้วยการชดเชยตาข้างที่เห็นให้ทำงานตลอดเวลาทำให้เหมือนแบกน้ำหนักข้างเดียว จนบางครั้งมีอาการปวดกระบอกตาได้แต่ไม่ค่อยพบบ่อยนัก
การป้องกันแก้ไข
ทำได้ถ้าเริ่มดำเนินการตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนกระทั่งก่อนอายุ 6 ถึง 7 ขวบ ถ้าเลยจากอายุนี้ไปแล้วแก้ไขยาก จึงเป็นเพียงแก้พอให้ข้างที่ขี้เกียจไม่เลวไปกว่าเดิมเท่านั้น ดังนั้นถ้าพบเด็กที่มีตาเข หรือพบว่ามีสายตาไม่เท่ากัน 2 ข้าง ทั้งที่ใส่แว่นตาแล้วควรแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแก้ไข ถ้าเราได้ใบสั่งแว่นตาของเด็กบางคนที่มีค่าสายตาเอียงมากๆ หรือค่า สายตา 2 ข้างต่างกันมากๆ ไม่ต้องไปลดแว่นให้เขาเพราะเด็ก จะปรับตัวได้ดีไม่งงเหมือนผู้ใหญ่ เพราะถ้าไปลดค่าสายตาแล้วตาข้างนั้นอาจได้รับการแก้ไขไม่เต็มที่สายตาขี้เกียจก็อาจจะไม่ดีขึ้น
ในผู้ใหญ่ที่สายตาขี้เกียจไปแล้ว แก้ไขไม่ได้ถ้าสวมแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ก็ควรจะสวมเป็นประจำ เพื่อให้ตาได้ทำงานเต็มที่พร้อมๆ กันไม่พยายามปล่อยให้ตาข้างหนึ่งทำงานอยู่ข้างเดียวนานๆ บางครั้งพบว่าถ้าไม่ใส่แว่นแล้วตาข้างที่ขี้เกียจไม่ได้ใช้งานนานๆ อาจลอยเขออกไปก็ได้